วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2556

พหุวัฒนธรรมในสังคมสมัยใหม่


Atree mehmed
พหุวัฒนธรรมในสังคมสมัยใหม่

  
                                                                                   
แนวคิดและทฤษฎีพหุวัฒนธรรม
                อานันท์ กาญจนพันธุ์ ได้อธิบายเกี่ยวกับความเป็นมาของแนวคิดพหุวัฒนธรรมในประเทศไทยว่าแนวคิดดังกล่าวได้เข้าพร้อมๆกับความเปลี่ยนผ่านทางสังคมวัฒนธรรม ซึ่งเป็นช่วงเวลาไม่กี่ที่ผ่านมา ประชาชนชาวไทยไม่ค่อยรู้จักคำว่า พหุวัฒนธรรมเท่าใดมากนัก นอกจากแวดวงวิชาการเท่านั้น อาจเป็นเพราะประเทศ ในช่วงระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงของการสร้างรัฐชาติที่เน้นอุดมการณ์ความเป็นหนึ่งเดียวทางวัฒนธรรม และความเป็นไทย ดังนั้น ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ได้ถูกบกบัง สลาย และกมกลืน เป็นอย่างมากในช่วงของสร้างรัฐชาติ
                ความหมายของวัฒนธรรม ในทางวิชาการ มักมองว่าวัฒนธรรมเป็นระบบคุณค่า ระบบความหมาย ระบบความคิด ที่คนในพื้นที่หรือในดินแดนหนึ่งมีอยู่ร่วมกัน หมายความว่าเช่นในประเทศไทยต้องมีระบบคิด ระบบความหมาย คุณค่า ทุกอย่างเหมือนๆกัน ดังนั้น การมองในลักษณะนี้เป็นการมองที่ ตายตัว หยุดนิ่ง คล้ายๆว่าเป็นแก่นแท้
                ในทางมานุษยวิทยาได้ให้ความหมายวัฒนธรรม ซึ่งในความหมายที่ได้รับการยอมรับและเชื่อถือเป็นอย่างมากในแวดวงวิชาการ ที่มองความหมายวัฒนธรรมที่มีลักษณะสัมพันธ์ (Cultural Relative) ซึ่งหมายความว่า ต่างคนต่างมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง ที่แตกต่างกัน ซึ่งความคิดเช่นนี้ช่วยให้เราลดความมีอคติต่อกัน ดูถูกดูแคลนระหว่างวัฒนธรรมลงไปได้บ้าง ((((((((((((((999((((อานันท์ กาญจนพันธ์ 2551: 224)
                อานันท์กล่าวว่า แนวความคิดต่างๆไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศ แต่มักถูกนิยามขึ้นมาทั้งนั้น ฉะนั้นต้องเข้าใจในการให้ความหมายของการนิยาม โดยเฉพาะเรื่องที่ศึกษาเกี่ยวกับพหุวัฒนธรรม ที่ผู้คนส่วนใหญ่มักมองว่า ความเป็นพหุสังคมนั้น ดีเป็นเรื่องดี แต่เราต้องพิจารณาว่ามันดีตรงไหน ดีอย่างไร ซึ่งมีเรื่องหลายๆอย่าง ที่เราควรนำมาพิจารณาศึกษา อันดับแรกที่เราต้องสร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับพื้นฐานทางทฤษฎีและแนวคิดที่ว่าด้วยพหุวัฒนธรรม อาจารย์อานันท์ ได้ชี้ให้เห็นว่าความเป็นพหุวัฒนธรรมได้ถูกยอมรับและถูกพูดกันอย่างมากในวงวิชาการ และสังคมการเมือง โดยเฉพาะสังคมตะวันตก ที่ได้ถกเถียงเกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมในแนวความคิดเสรีนิยมและแนวคิดหลังสมัยใหม่ ซึ่งอธิบายได้ดังนี้
                ความคิดแบบเสรีนิยม จะเชื่อว่า ปัจเจกทำคนเท่าเทียมกันหมด โดยไม่คำนึงถึงชาติพันธุ์ เพศและศาสนา แต่อย่างไรก็ตาม ก็ได้ยอมรับความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรม บนพื้นฐานอิสรภาพเสรีภาพ นักคิดในแนวนี้เน้นให้เห็นว่ามีความซับซ้อนของพหุวัฒนธรรม ที่มีมุมมองเรื่องลักษณะลูกผสมทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์เชิงซ้อน ดังนั้นแนวความคิดนี้ จึงมองวัฒนธรรมที่มีความหลากหลายและเลื่อนไหลได้
                ความคิดแนวหลังสมัยใหม่ จะเน้น ลักษณะลูกผสมทางวัฒนธรรม โดยชี้ให้เห็นว่า อัตลักษณะสามารถซ้อนทับกันได้ ซึ่งทำให้คนสามารถเป็นสมาชิกหลายๆชุมชนได้ ไม่ต้องผูกติดกับความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ตายตัว ดังที่ พอล กิลรอย (Paul Gilroy) ได้เสนอว่า ความเป็นชาติพันธุ์เป็นกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ที่ไม่มีวันจบสิ้น (อานันท์.2551:264-265)
                มีคำถามว่าเราจะยอมรับความแตกต่างอย่างไร ได้ยกตัวอย่างในแคนาดา ว่าได้มีการใช้นโยบายพหุวัฒธรรม เพราะที่นี้มีคนพื้นเมืองดั่งเดิมอาศัยอยู่มาก ซึ่งประเทศแคนาดาปกครองประเทศแบบเสรีนิยม เป็นสิ่งที่ง่ายสำหรับการยอมรับความหลากหลายเพราะฐานคิดของรัฐเป็นเสรีนิยม ที่เคารพและยอมรับความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรม จะเห็นได้ว่าในแคนาดา มีการพูดถึงเรื่อง สิทธิทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ดังเช่น อาจารย์อานันท์ ได้ยกตัวอย่าง เช่น กรณี ของชาวอินเดียแดง สามารถใช้พื้นที่ป่า ในการล่าสัตว์ หาปลา หรือหาของป่า ที่กระทำไปตามจารีตประเพณีในเขตอุทยานแห่งชาติได้ ยกเว้นคนผิวขาว ที่ไม่สามารถใช้พื้นที่ได้ การใช้พื้นที่ของชาวอินเดียแดงในเขตอุทยานสามารถกระทำได้นั้น เพราะว่า เป็นสิทธิทางวัฒนธรรมที่มีมาอยู่ก่อนหน้านั้นเลย ซึ่งเป็นจารีต วัฒนธรรมที่ชาวอินเดียอาศัยร่วมกับพื้นที่ป่า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในมิติของวัฒนธรรม หากมองย้อนกลับสู่ประเทศไทย ถ้ารัฐสามารถดำเนินนโยบายได้เช่นเดียวกับแคนาดา ก็คงไม่ต้องไปสร้างความเดือนร้อนกับชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ป่า ดังที่เหตุการณ์ที่แก่งกระจ่าง ก็เป็นปัญหาจากความเข้าใจในวัฒนธรรมของคนอื่น จึงทำให้ชาวกะเหรี่ยงต้องเดือนร้อนถูกอพยพและถูกรังแกจากเจ้าหน้าที่อุทยาน ซึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจนั่นเอง       
                ในบทความที่อานันท์ ได้พูดถึง ความเป็นพหุวัฒนธรรมในมาเลเซีย สิงคโปร์ ว่าถ้าจะเข้าใจเกี่ยวกับพหุวัฒนธรรมของ ทั้งสองประเทศ ประเด็นแรกที่ต้องเข้าใจคือ ประวัติศาสตร์สมัยอาณานิคมอังกฤษ ที่อังกฤษเป็นคนสร้างให้เกิดความแตกต่างทางชาติพันธ์หรือความแตกต่างในสถานะภาพด้วย กล่าวคือ อังกฤษเป็นผู้ที่นำเข้าชาวทมิฬอินเดีย และชาวจีน มาเป็นแรงงานให้อังกฤษมาเลเซีย ซึ่งอังกฤษได้กำหนดหรือมอบหมายให้ทำหน้าที่ตายตัว เช่น ชาวอินเดียทำหน้าที่แรงงานในสวนยาง, คนจีนเป็นแรงงานในเหมืองแร่ ,ส่วนชาวมาลายูเป็นข้าราชการ ทำการเกษตร อย่างไรก็ตามเมื่ออังกฤษได้ให้เอกราชแก่มาเลเซียแล้ว จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ในการปกครองประเทศ แต่กระนั้นจากเดิมที่อังกฤษได้จัดระบบแยกส่วนในการทำหน้าที่ในสังคม ทำให้คนมาเลย์ซึ่งมีสถานะเป็นผู้ปกครองอยู่เดิมแล้ว ได้เข้ามาจัดระบบใหม่ในการปกครอง แต่อย่างไรก็ตามจะเห็นว่า การจัดระบบการปกครองนั้น ยังเป็นรูปแบบที่ไม่ต่างอะไรจากสมัยอาณานิคม ดังที่อาจารย์อานันท์ได้กล่าวว่า เป็นอาณานิคมภายใน ที่มีความไม่เท่าเทียมกันในสังคมอย่างเห็นได้ชัด และเป็นการมองหาประโยชน์จากผู้คนในสังคม ฉะนั้นอาจเข้าใจได้ว่า ความเป็นพหุสังคมในมาเลเซียก็ดีสิงค์โปรก็ดี จะเห็นเป็นการสร้างความแตกต่างเพื่อสร้างความได้เปรียบ ดังนั้นมีความเป็นพหุสังคมวัฒนธรรมก็จริง แต่ไม่เสมอภาค ซึ่งสอดคล้องกับที่อาจารย์อานันท์กล่าวว่า ในสังคมพหุวัฒนธรรมนั้นมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่มีการต่อรอง ปกป้องรักษาผลประโยชน์ของตนเอง
                เมื่อเราพิจารณาสังคมพหุวัฒนธรรมในมุมมองของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ต้องเข้าใจเกี่ยวกับฐานคิด 3 แนวคิดที่เชื่อมโยงกัน นั่นคือ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และอัตลักษณ์


                                         กระบวนทัศน์วัฒนธรรมชาติพันธุ์
1.             Primodial  คือ ความเป็นดั่งเดิม
2.          Instrumantalism  คือ ความเป็นชาติพันธุ์เสมือนเครื่องมือ หรือบทบาท ซึ่งชาติพันธุ์แสดงบทบาทอะไร ดังที่ E.Leach ได้ค้นพบว่าชาวฉานและคะฉิ่น นั้นไม่มีอัตลักษณ์ที่ตายตัว อธิบายว่า ความเป็นฉานและความเป็นคะฉิ่น ไม่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมเป็นอย่างไร บริบทและเงื่อนไขเป็นอย่างไร ซึ่งหมายถึงว่าสถานะภาพจะถูกหล่อหลอมมาที่หลัง  ดังนั้นชาติพันธุ์ว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง
3.        Constructionism คือ อธิบายว่าวัฒนธรรมหรือชาติพันธุ์นั้นถูกประกอบสร้างขึ้นหรือสื่อขึ้นมา ดังที่ F.Barth 1969 สงสัยว่าทำไมกลุ่มชาติพันธ์สร้างพรมแดนเพื่อกำหนดตัวเอง ชาติพันธุ์ไม่ต้องการให้คนอื่นมาบอกเราว่ามีอัตลักษณ์อย่างไร แต่ชาติพันธุ์ต้องการบ่งบอกกับคนอื่นๆเพื่อจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม
ในปัจจุบันแนวคิดว่าด้วย การประกอบสร้าง (Constructionism) ได้ถูกใช้และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เพราะว่าเป็นการมองชาติพันธ์ว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มีการสร้างสัญลักษณ์ แบบตัวแทน เพื่อเป็นการกำหนดความสัมพันธ์กับคนอื่น วัฒนธรรมก็เป็นเรื่องความสัมพันธ์แบบเชิงอำนาจ ซึ่งความสูงต่ำของความสัมพันธ์ขึ้นอยู่กับบริบทและเงื่อนไขนั้นๆ เช่น เรื่องป่าชุมชน ที่ชาวกะเหรี่ยงพยายามเรียกร้องต่อสู้และนิยามว่าเป็นการอนุรักษ์จัดการป่าแบบวัฒนธรรม ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า เป็นการนิยามเพื่อใช้ในการต่อรอง และเห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
                อย่างไรก็ตามเราจะเห็นว่าผู้คนที่เป็นชายขอบ ที่ไม่มีสิทธิทางสังคมหรือการเข้าไม่ถึงทรัพยากร หรือการถูกมองว่าเป็น คนอื่น โดยที่คนกลุ่มใหญ่นิยามให้แก่ผู้คนเหล่านั้น เช่น การที่รัฐนิยามว่า คนที่อยู่บนดอย ว่าเป็นชาวเขา ในการนิยามนี้ไม่ได้ถูกยอมรับจากผู้คนเหล่านั้น แต่ในขณะเดี่ยวกันจึงมีการสร้างอัตลักษณ์ตนเองขึ้นมาใหม่ ให้กลุ่มต่างๆยอมรับ เพื่อให้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ ไม่มีอคติต่อกัน
สรุป
                ชาติพันธุสัมพันธ์ ก็คือ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่กลุ่มหนึ่งแสดงอำนาจเหนือกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง และอีกกลุ่มแสดงการตอบโต้  การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับชาติพันธ์ นั้น ทฤษฏีที่นิยมใช้มาก คือ ทฤษฎีประกอบสร้าง (construction) ที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มีการสร้างสัญญาลักษณ์ สร้างภาพตัวแทน เหล่านี้เพื่อใช้ในการต่อรองระหว่างกลุ่ม แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องดูที่บริบททางสังคมที่มีส่วนในการกำหนดอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ดังเช่นต้องพิจารณาชุมชนนั้นว่าเป็นลักษณะเปิดหรือปิด หรือดังที่ F. Barth กล่าวว่า บริบทที่อยู่ระหว่างชุมชนเปิดกับปิด จุดนี้ จะมีการ Hibrid ที่มีการสร้างอัตลักษณ์ที่เลื่อนไหลและมีหลายอัตลักษณ์
                อาจารย์อานันท์ได้ย้ำว่าความเป็นชาติพันธุ์เป็นเรื่องที่สมมุติขึ้น เพื่อใช้ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม ดังนั้น ในสังคมพหุวัฒนธรรมได้นำความแตกต่างทางชาติพันธุ์ มาใช้ในการปฏิบัติทางสังคมที่มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทและเงื่อนไข ฉะนั้น ในสังคมประชาธิปไตยต้องยอมรับและเคารพความแตกต่างระหว่างกัน ความแตกต่างในที่นี้ต้องไม่ใช่การหาความได้เปรียบ แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค
           

อ้างอิง
อานันท์ กาญจนพันธ์
2551     “พหุวัฒนธรรมในบริบทของการการเปลี่ยนผ่านทางสังคมและวัฒนธรรม”ในบทความแนวคิด ชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม. เชียงใหม่: ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่